ผลักดันนโยบาย
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NCDs) เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะคนวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานและส่งผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานไปจนกระทั่งเป็นผู้สูงอายุ ทั้งการสูญเสียปีสุขภาวะ และก่อให้เกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจอย่างมากในระดับประเทศ
การเกิด NCDs ในกลุ่มวัยทำงานส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมเนือยนิ่งและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเวลาทำงาน หรือเวลาในสถานประกอบการ เชื่อมโยงไปถึงเวลาในการใช้ชีวิตที่บ้านกับครอบครัว การจัดการ NCDs ในกลุ่มวัยทำงาน จำเป็นต้องใช้การขับเคลื่อนที่สอดประสานเชื่อมโยงกันในหลายภาคส่วน และหลายมิติ ทั้งด้านมาตรการระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบายในระดับประเทศ
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อสุขภาพ และการขับเคลื่อนในระดับองค์กร โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) ซึ่งหมายถึง องค์กรที่มีการวางระบบในการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลสุขภาพสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ควบคู่กับการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน เพื่อให้พนักงานสุขภาพดี มีความสุข สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยมีองค์กรเข้าร่วมโครงการกว่า 300 องค์กรแล้วนั้น เครือข่ายคนไทยไร้พุง ยังได้ทำการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยร่วมมือกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาทบทวนมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในสถานประกอบการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการจัดทำร่างข้อเสนอแนะด้านมาตรการและนโยบายเสนอต่อภาครัฐ โดยใช้ชื่อการศึกษาว่า “การศึกษานโยบายและมาตรการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในสถานประกอบการ การทบทวนวรรณกรรมต่างประเทศ และกรณีศึกษาสถานประกอบการภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย”
ผลการศึกษา นำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
นโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ทันที
o การสร้างความตระหนักรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญให้ประชาชนใส่ใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี เน้นในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาโรค ควรดำเนินการในทุกระดับ สำหรับระดับประเทศคือผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการคลัง โดยการเผยแพร่งานวิชาการและงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ มีเนื้อหา ช่องทาง และรูปแบบที่เหมาะสมกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
o การพัฒนาโมเดลเชิงธุรกิจเพื่อจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร เป็นแบบแผนและแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับประโยชน์หรือผลลัพธ์ในการเข้าร่วมโครงการที่เป็นรูปธรรม
o การพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล เพื่อประเมินประสิทธิภาพของมาตรการในสถานประกอบการทั้งภาครํฐและเอกชน รวมถึงการประเมินเครื่องมือให้การสนับสนุนสถานประกอบการในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นโยบายที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
o การสร้างมาตรการที่มีแรงจูงใจมากพอให้แก่สถานประกอบการหรือนายจ้าง เพื่อดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การลดภาษีหรือเงินสมทบประกันสังคมให้แก่สถานประกอบการ และการสร้างมาตรการเชิงบังคับให้สถานประกอบการจัดกิจกรรมและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพพนักงาน
o การส่งเสริมให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ พรบ. ข่าวสารข้อมูล ช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพของตนเอง โดยคำนึงถึงการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของผู้ประกันตน
o มาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อผลักดันให้สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า การสูญเสียรายได้ของรัฐ ภาระต่องบประมาณ และรูปแบบของมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น เงื่อนไขการได้รับสิทธิทางภาษี จำนวนเงิน และระยะเวลาการให้สิทธิทางภาษีที่เหมาะสม
o การศึกษาความเหมาะสมในการผลักดันให้เพิ่มข้อบังคับด้านสุขภาพในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ให้นายจ้างแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพ หรือ ผู้นำสุขภาพในสถานประกอบการ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติผ่านการอบรมความรู้จากสถาบันวิชาชีพที่เชื่อถือได้ และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน มีหน้าที่ในการประเมินสุขภาพ สำรวจความต้องการ ความสนใจของพนักงาน เพื่อจัดกิจกรรม/โครงการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
นโยบายที่ปฏิบัติได้ทันที
o การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับพฤติกรรมเพื่อสร้างสุขภาวะในสถานประกอบการ และสร้างการรับรู้ความสำเร็จของกิจกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจัดงานและประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อยกย่องสถานประกอบการตัวอย่างในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน เพื่อสร้างคุณค่าในรางวัลและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่องค์กรที่ได้รับรางวัล การรับรู้อย่างกว้างขวางจะทำให้ผู้บริหารองค์กรเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำให้สามารถดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
o การเพิ่มบทบาทบุคลากรสาธารณสุขในสถานประกอบการขนาดใหญ่หรือพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลให้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการขนาดเล็กมีข้อจำกัดที่ไม่มีบุคลากรสาธารณสุขอยู่ประจำ จึงควรมีองค์กรภายนอกสนับสนุน
o หน่วยงานของรัฐควรดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภาคเอกชน โดยกำหนดให้การสร้างเสริมสุขภาพบุคลากรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องดำเนินการ โดยมีการพัฒนาตัวชี้วัดสำหรับหน่วยงานแต่ละประเภทที่สนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร
o การพัฒนาเครื่องมือในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบการ โดยออกแบบให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการแต่ละประเภท และประชาสัมพันธ์เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงง่าย
นโยบายที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
o การศึกษารูปแบบมาตรการที่จะจูงใจหรือกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ สร้างเสริมสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ เช่น การให้เครดิตภาษี การยกย่ององค์กรต้นแบบ โดยควรศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและประโยชน์จากแต่ละมาตรการ รวมถึงอัตราการตอบรับของสถานประกอบการต่อมาตรการในรูปแบบต่าง ๆ
นโยบายที่ปฏิบัติได้ทันที
o การสร้างความตระหนักให้ประชาชนโดยเฉพาะวัยแรงงานให้เข้าใจถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ เน้นในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาโรค
นโยบายที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
o การสร้างมาตรการที่เป็นแรงจูงใจระดับประชาชน เช่น การลดหย่อนภาษีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จัดให้มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและจ่ายไหว หรือลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพด้วยโครงการคนละครึ่ง การลดภาษีอุปกรณ์กีฬา ตลอดจนการการขยายความครอบคลุมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้เข้าร่วม เช่น การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมกัน
นอกจากนี้ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดทำรายงาน "การศึกษาช่องว่างและโอกาสทางนโยบายและมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ สำหรับคนทำงานในสถานที่ทำงานของประเทศไทย" และ "Policy Brief ช่องว่างและโอกาสของนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานที่ทำงาน" เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ได้นำข้อมูลไปใช้ขยายผลการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อสำหรับประชาชนวัยทำงานต่อไป
เครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ และ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้นำข้อเสนอที่สามารถทำได้ทันที มาดำเนินการต่อยอดเป็น “โครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เพื่อป้องกัน NCDs ในประชาชนวัยทำงาน” และสำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่สรุปได้จากรายงานการศึกษาข้างต้น เครือข่ายคนไทยไร้พุง ร่วมมือกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "ข้อเสนอต่อว่าที่นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแห่งประเทศไทย เพื่อลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจากโรค NCDs และปัจจัยเสี่ยง" เพื่อเตรียมยื่นให้กับว่าที่นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผุ้แทนราษฏร
หากมีความคืบหน้าประการใดจะรายงานให้ทราบต่อไป