23 ธ.ค. 64
1032
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรม มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การตรวจประเมิน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการบริโภค และการออกกำลังกาย และการปรับสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร
2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรม มีเจตคติเป็นผู้นำสุขภาพที่มีความกระตือรือร้น ตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ข้อมูลข่าวสาร มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงบวก พร้อมดูแลตนเองและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานในการดูแลสุขภาพ
3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรม มีทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน สามารถออกแบบ, จัดการ และขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพแก่พนักงานในองค์กร
คุณสมบัติผู้เข้าอบรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร ดังต่อไปนี้
· เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ
· เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
· นักสร้างสุของค์กร
· พยาบาลวิชาชีพ
· นักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการ
· นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
· บุคลากรในองค์กรที่ได้รับมอบหมาย
โครงสร้างหลักสูตร
ประธานคณะกรรมการหลักสูตร
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน ประกอบไปด้วย 5 ชุดวิชา ดังนี้
ชุดวิชาที่ 1 รู้จัก NCDs การตรวจประเมินและการจัดการเชิงป้องกัน
ผู้รับผิดชอบ รศ.นพ.วีรชัย ศรีวณิชชากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ NCDs ปัจจัยเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การดูแลรักษาเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการจัดการระบบในองค์กรเพื่อจัดการ NCDs เพื่อให้ผู้นำสุขภาพมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น และสามารถนำองค์ความรู้และทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุดวิชาที่ 2 การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการออกกำลังกาย
ผู้รับผิดชอบ ดร.ชลชัย อานามนารถ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย ผลต่อระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบทางเดินหายใจและปอด ระบบการเผาผลาญ ระบบกล้ามเนื้อ ตลอดจนสภาพจิตใจ และทำความรู้จักรูปแบบ, วิธีการเสริมสร้างสมรรถนะของร่างกายด้วยประเภทการฝึกที่เหมาะสม การประเมินและออกแบบโปรแกรม รวมถึงติดตามความก้าวหน้าในการออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามความต้องการ และข้อจำกัดต่างๆ ตามขั้นตอนที่ถูกต้องและปลอดภัย
ชุดวิชาที่ 3 การส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค
ผู้รับผิดชอบ พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม และผลต่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ตลอดจนการเลือกสั่ง เลือกกินอาหารในสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำด้านโภชนาการจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อประกอบการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ชุดวิชาที่ 4 การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร, สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ
ผู้รับผิดชอบ คุณกันตินันท์ เดชจินดา วิทยากรด้านจิตวิทยา, สังคมวิทยา เครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญในการตั้งเป้าหมาย การวางแผน การกำหนดตัวชี้วัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างแรงจูงใจภายในตัวเอง การกำหนดแผนพัฒนารายบุคคลด้านสุขภาพ รวมไปถึงบทบาทและทักษะด้านการสื่อสารที่สำคัญและจำเป็นในการเป็นผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน
ชุดวิชาที่ 5 การออกแบบและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร
ผู้รับผิดชอบ คุณวีระวัชร์ มงคลโชติ คุณพรพรรณ ตั้งมั่นจิตธรรม คุณแทนพงศ์ พรหมวิจิต
วิทยากรและกระบวนกรการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และทีมวิทยากรเครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสมตามบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงทำความรู้จักแนวคิด ตัวอย่าง เครื่องมือในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กร สุขภาพดี (Healthy Organization) และทดลองออกแบบโครงการสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทขององค์กร เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติ ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ได้อย่างยั่งยืน
รูปแบบการอบรม เป็นการอบรมแบบผสมผสาน มีการอบรมทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยในช่วงสถานการณ์โรคระบาด จะเน้นรูปแบบการจัดอบรมแบบออนไลน์ ประกอบด้วยการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและการศึกษาด้วยตนเอง/งานที่มอบหมาย
ระยะเวลาอบรม ระยะเวลาอบรมตลอดหลักสูตร 5 สัปดาห์
ตารางการอบรม วันจันทร์, พุธ เวลา 13.00 – 17.00 น. และ วันศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น
การประเมินผล
ประเมินผลผู้เข้าอบรม เพื่อรับประกาศนียบัตรผ่านการอบรม จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
o เข้าร่วมการอบรม อย่างน้อยร้อยละ 80 ของเวลาเรียน
o ส่งการบ้าน, Assignment ของแต่ละชุดวิชา อย่างน้อยร้อยละ 50 ของงานที่ได้รับมอบหมาย
o นำเสนอโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่จะนำไปใช้ในองค์กร
ประเมินผลโครงการ
o ประเมินผลการนำความรู้ไปปฏิบัติ การดำเนินโครงการ และนำเสนอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับองค์กร
o ประเมินผลหลักสูตร โดย แบบสำรวจความพึงพอใจ แต่ละชุดวิชา และภาพรวม
รายละเอียดเพิ่มเติม
• เป็นหลักสูตรอบรม รองรับผู้เข้าอบรมในนามองค์กรๆ ละ 3 คน (สมัครเป็นทีมๆ ละ 3 คน เพื่อช่วยกันคิด, ออกแบบโครงการ และนำกลับไปปฏิบัติจริงในองค์กร)
• ปัจจุบันเปิดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น และจะเปิดรับสมัครรุ่นที่สามเร็วๆ นี้ หากองค์กรใดสนใจเข้าร่วม สามารถแจ้งความประสงค์มาทาง email : [email protected] โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง จะส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทราบทาง email ต่อไป
สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0819334005, 0816986393
23 ธ.ค. 64