17 พ.ค. 65
507
เคล็ดไม่ลับ ขยับตัวเพิ่มขึ้น
ในเวลานี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่ใครหลายคนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพจริงจังมากขึ้น ค่านิยมการออกกำลังกายและการเอาใจใส่เรื่องของการรับประทานอาหารเพื่อให้สุขภาพดี เริ่มแพร่หลายและทำกันในหมู่มาก โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นวัยที่จะสั่งสมสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น กล่าวคือ
การรณรงค์ให้เดินมากขึ้น เริ่มได้รับความนิยมไปทั่วโลก คำแนะนำของจำนวนก้าวเดินเพื่อเป็นการเริ่มต้นสุขภาพที่ดี คือ วันละ 10,000 ก้าว แต่เราจะทำได้อย่างไรบ้าง วันนี้มีเคล็ดลับมาฝากครับ
1) เริ่ม Exercise Break ให้เป็นนิสัย ตั้งนาฬิกาหรือ Reminder ในโทรศัพท์มือถือ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้มีการเตือนทุก 1 ชั่วโมง เพื่อให้เราลุกขึ้นไปยืดเส้นยืดสาย และขยับกล้ามเนื้อรอบๆ โต๊ะทำงาน
2) จอดรถให้ไกลจากทางเข้าอาคารหรือส่วนที่ต้องไป เลิกคิดว่า “โชคร้ายจัง หาที่จอดใกล้ๆ ไม่มี” ได้แล้ว ปรับความคิดและมุมมองเป็น นี่คือโอกาสการเดินและขยับตัวมากขึ้น
3) หาอุปกรณ์หรือเครื่องสวมใส่ที่ “นับก้าวเดิน” ได้มาใช้ อาจไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงมากก็ได้ ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อให้เลือกราคาไม่เกิน 1,000 – 2,000 บาท ก็ใช้งานได้แล้ว หรือสมาร์ทโฟนบางรุ่นก็มี App นับก้าวติดมาให้ หรือสามารถหา Download ได้ฟรี และที่สำคัญ เมื่อเรามีอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว จะเหมือนมีแรงผลักดันเล็ก ๆ ให้ออกไปเดินมากขึ้น
4) ถ้าเป็นคนรักสัตว์ นี่คือโอกาสดีของการเลี้ยงสุนัข สำหรับบางคนการเลี้ยงสุนัขถือเป็นปัจจัยที่ดีเพราะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการขยับตัวได้เป็นอย่างดี โดยการพาสุนัขไปวิ่งเล่นเป็นประจำ หรืออย่างน้อยก็ต้องพาไปเดินออกกำลังกาย
5) เดินไปหาเพื่อนร่วมงาน แทนการแชท, โทร หรือส่งอีเมล์ แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้สุขสบายมากขึ้น แต่หากไม่ขยับตัวเลย ย่อมมีผลเสี่ยต่อสุขภาพแน่ ๆ ครับ หาโอกาสเดินบ้างจะดีกว่า
6) เดินคุยงาน (Walking meeting) แนะนำว่าวิธีนี้ในระยะแรกมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ให้ทดลองทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ คุยงานระหว่างเวลางาน แต่เปลี่ยนสถานที่จากห้องประชุมเป็นห้องกาแฟเล็ก ๆ คือเดินคุยกันที่ดาดฟ้าก็ยังได้ ลองจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนให้เกิดเป็นค่านิยมที่ดีต่อสุขภาพได้ ก็น่าสนใจครับ
7) หลังอาหารเที่ยง เดินมากขึ้นหน่อย จะเดินไกลออกไปหรือเดินชอปปิ้งแบบไม่ซื้อก็ได้ ช่วยให้เพิ่มก้าวเดินได้เป็นอย่างดีครับ
8) ปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเพิ่มเติม หากมีอาการบาดเจ็บหรือโรคประจำตัว
เท่านี้ ร่างกายของเราก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีสุขภาพดีต่อเนื่องกันอีกยาวๆ แล้วครับ
พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ วิทยากรโภชนาการ เครือข่ายคนไทยไร้พุง