16 พ.ค. 65
967
สุขภาพดี เป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนา และหากเรามีความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยให้เราสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อ ตนเอง ครอบครัว สังคม จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “สุขภาพดี” และ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ไปพร้อมๆ กัน
สุขภาพดี (Well-being)
ความหมายของสุขภาพดี (Well-being) ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสุขภาพกายที่ดีเท่านั้น แต่สุขภาพดีประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy)
ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ไม่ใช่เพียงความรู้ด้านสุขภาพ เพราะระดับความรู้มีตั้งแต่
ดังนั้น การได้ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น ฟังเขาเล่ามา อ่านสื่อในอินเตอร์เน็ต จะต้องมีการสกัดเอาเฉพาะสิ่งที่ถูกต้องไว้และคัดแยกสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกก่อน จนเป็นความรู้ด้านสุขภาพ จะได้พัฒนาจากคนที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพ แต่คนที่มีความรู้ด้านสุขภาพยังไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีเพราะยังไม่ได้นำความรู้ที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองจากคนที่มีความรู้เป็นคนฉลาด โดยคนฉลาดคือบุคคลที่มีความรู้และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อ ตนเอง ครอบครัว สังคม จึงถือว่ามีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy)
สุขภาพดีวิถีไทย
แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืน และเป็นสุข บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้มีความตระหนัก ลดปัจจัยเสี่ยง เสริมปัจจัยเอื้อ และมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ การค้นหา เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม จัดการปัญหา และพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ องค์รวมครอบคลุม มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าประสงค์สูงสุด : ประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศ มีภูมิคุ้มกันและศักยภาพในการสกัดกั้นภัยคุกคามสุขภาพจากโรควิถีชีวิตที่สำคัญได้
เป้าหมายหลักในการพัฒนา : ลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ 5 โรค (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง) ใน 5 ด้าน (ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการพิการ ลดการตาย และลดภาระค่าใช้จ่าย) ด้วยการเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียง เดิมเป็นการดูแลสุขภาพโดยหลัก 3 อ 2 ส ในปัจจุบันอาจจะต้องปรับเป็น 4 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อากาศ อารมณ์) และ งด 3 ส (สูบบุหรี่ สุรา สิ่งเสพติด) ซึ่งเราทุกท่านทราบดีว่า 3 ส นี้เป็นอบายมุขที่นำไปสู่ความเสื่อมโดยเสียทั้งเงินและเสียสุขภาพ ซึ่งโครงการสุขภาพดีวิถีไทยได้ต่อเนื่องมาเป็นนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2564 - 25702
สุขภาพดีเริ่มที่ใด?
สุขภาพดีเริ่มที่การป้องกันไม่ใช่การรักษา และเริ่มที่ตัวเราเอง ไม่ได้เริ่มที่คนอื่น ถึงแม้ว่าการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากโครงการสุขภาพดีถ้วนหน้า (health for all) ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรับการบริการด้านสุขภาพ แต่ภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตทำให้การดูแลอาจจะต้องเปลี่ยนระบบเป็น all for health คือ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วย ต้องใส่ใจสุขภาพตนเองป้องกันโรคและหลีกเลี่ยงการเกิดโรคที่ป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อ (โรคไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น) หรือโรคไม่ติดต่อ ( เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง) ครอบครัวมีส่วนในการดูแล สังคมช่วยดูแลและกำหนดนโยบายด้านสุขภาพเกิดเป็นรัฐธรรมนูญสุขภาพในชุมชน (เช่น งานวัดปลอดอบายมุข ไม่มีน้ำอัดลมในโรงเรียน การกำหนดสถานที่สูบบุหรี่ การให้สวัสดิการเพิ่มเติมแก่ผู้เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า การสร้างสวนสาธารณะในชุมชนเพิ่ม การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ การที่ดื่มหรือง่วงไม่ขับขี่ยานพาหนะ การจัดให้มีน้ำดื่มบริการฟรีในสถานที่สาธารณะ การแจกพันธุ์ผักและส่งเสริมปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคเองในชุมชน การใช้สื่อสาธารณะ ดารา นักร้อง นักกีฬา ในการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มการบริโภคผัก ลดน้ำตาล งดเค็ม ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ปฏิเสธบุหรี่ สุรา ยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร) เพื่อชีวิตที่ดีในชุมชน สังคม ที่ตนอยู่อาศัย
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) ซึ่งการใช้ชีวิตหลังเกษียณในผู้สูงอายุ จะมีได้ 3 แบบ ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 สุขภาวะหลังเกษียณอายุ
จะพบว่าส่วนหนึ่งหลังเกษียณยังคงมีสุขภาพดีถึงอายุ 80 ปี หรือมากกว่า แต่บางรายมีภาวะพึ่งพาช่วงท้าย และที่เราไม่ต้องการคือมีภาวะพึ่งพาและต่อมามีสุขภาพที่ทรุดลงจนเป็นภาวะที่ติดเตียง ต้องพึ่งพาคนอื่น การที่เรามีความรอบรู้ด้านสุขภาพนี้จะมีส่วนสำคัญช่วยให้เรายังสามารถเป็นคนสูงอายุที่แข็งแรงดูแลตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพา ลดโอกาสป่วยติดเตียงที่จะเป็นภาระแก่ลูกหลานและสังคมต่อไป โดยความจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลสุขภาพ คือ สุขภาพเป็นของตัวคุณเอง ไม่มีใครทำแทนได้
ศ. คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
เลขานุการ คณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง