09 ธ.ค. 64
684
ในฤดูหนาว บางคนก็คลายหนาวด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ประเทศจีนแสดงให้เห็นว่า การกินพริก(โดยเฉพาะพริกสด) สัมพันธ์กับการลดการตายจากทุกสาเหตุ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้กิน ในคนที่ “ไม่ได้” ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ การกินพริก ไม่ช่วยลดการตายฯ
การศึกษาชายจีน 199,293 คน หญิงจีน 288,082 คน อายุ 30-79 ปีในช่วง ปี 2004-2008 ติดตามเฉลี่ย 7.2 ปี มีการตายจากทุกสาเหตุ ชาย 11,820 คน และหญิง 8,404 คน พบว่า กิน “พริกสด” ๖-๗ วันต่อสัปดาห์ สัมพันธ์กับ ลด ”การตาย” -จากมะเร็ง(11%) -จากโรคหัวใจขาดเลือด(25%) -จากเบาหวาน(30%) -จากโรคทางเดินหายใจ(30%)(รวมทั้งโรคปอดบวมและการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างด้วย) - จากโรคติดเชื้อ(~55%)ในผู้หญิง (เมื่อเทียบกับ กินพริกสดน้อยกว่า ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ กินพริกแห้ง ซอสพริก) นอกจากนี้ การกินพริกสดฯ ในคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับลดการตายทุกสาเหตุประมาณ ๕๐ เปอร์เซนต์ ในขณะที่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ที่กินพริกสดฯ ไม่ลดการตายดังกล่าว (Lv J. BMJ 2015;351:h3942)
การศึกษาในชาวอเมริกัน 16,179 คน อายุ ๑๘-๙๐ ปี ติดตาม ๑๘ ปี(Chopan M. PLoS One 2017;12:e0169876) ในชาวอิตาเลียน 22,811 คน อายุ มากกว่า ๓๕ ปี ติดตาม ๘ ปี (Bonaccio M. J Am Coll Cardiol 2019;74:3139) ในชาวอิหร่าน 44,398 คน อายุ ๔๐-๗๕ ปี ติดตาม ๑๑ ปี(Hashemian M. J Am Heart Assoc. 2019;8:e012240.) รวมทั้ง ๔ การศึกษา พบว่า การกินพริก (เทียบกับไม่กินพริก) สัมพันธ์กับการลดการตายทุกสาเหตุ ๒๕% ลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒๖% และลดการตายจากมะเร็ง ๒๓% (อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ)
กินพริกแล้วกัดกระเพาะ เพิ่มโรคกระเพาะลำไส้ไหม
ผลข้างเคียงจากการกินพริกในการศึกษาดังกล่าว ไม่มีการเกิดโรคกระเพาะฯ-ลำไส้ หรือ แผลในกระเพาะฯ-ลำไส้
กินพริกมากแค่ไหนดี
การศึกษาไม่ได้ระบุว่า ควรกินพริกวันละกี่เม็ด แต่การกินพริก ทำให้ น้ำมูก น้ำตาไหล ออกเหงื่อ ขับของเสีย เชื้อโรคออกจากร่างกายได้ น่าจะเพียงพอในการป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ (อาจรวมทั้งโควิด๑๙ ด้วย)
“กินพริกสด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน กันเถิด”
เอกสารอ้างอิง : www.medscape.com/viewarticle/941463#vp_2
สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ.
ประธานชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะด้านมาตรการและนโยบาย
เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย